Friday, October 8, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จังหวัดบุรีรัมย์

เขื่อนลำนางรอง

เขื่อนลำนางรอง อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์เราสู้ไป 200 เมตร เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ และมีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ นอกจากเขื่อนนี้จะเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรแล้ว ยังได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีบ้านพัก

รับรอง ห้องประชุม และค่ายพักแรม ติดต่อสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรองซึ่งอยู่ก่อนถึงสันเขื่อน ในเวลาราชการ โทร. 0 4460 6336 ต่อ 159 ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป (ดอยคำ) ผลิตผักผลไม้กระป๋อง อาทิ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ และน้ำมะเขือเทศ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน มีพื้นที่ประมาณ 3,568 ไร่ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เป็นที่จอดเครื่องบินเพื่อส่งเสบียงอาหาร และเมื่อสงครามยุติทางราชการจึงให้พื้นที่นี้เป็นสาธารณะประโยชน์ และที่พักผ่อนของชาวอำเภอประโคนชัย เป็นจุดที่เหมาะแก่การดูนกน้ำ นกที่พบได้แก่ เป็ดหงส์ เป็ดเทา นกช้อนหอย เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ตามทางไปประโคนชัย 41 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 219 ก่อนถึงอำเภอประโคนชัย 4 กิโลเมตร เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จะอยู่ด้านซ้ายมือ


อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม

อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 24 ห่างจากอำเภอนางรอง 4 กิโลเมตร ระหว่างทางไปปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นจุดแวะพักริมทาง มีศาลาริมน้ำรับลมเย็นสบาย และในฤดูแล้งมีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ด้วย

Tuesday, October 5, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา จังหวัดบุรีรัมย์

วนอุทยานเขากระโดง

วนอุทยานเขากระโดง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏร่อง รอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ สร้างโดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนายสรวุฒิ บุญญานุศาสน์ และภายในวนอุทยานยังมีปราสาทหินเขากระโดง ซึ่งเดิมเป็นปราสาทหินทรายก่อบนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 4 เมตร ตัวปราสาททรุดโทรมปรักหักพัง ต่อมามีผู้บูรณะและสร้างมณฑปครอบไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือ ขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จะมีงานประเพณีขึ้นเขากระโดง

พระพุทธรูปใหญ่ (พระพุทธรูปปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎรนิมิตมุนินทร์)

พระพุทธรูปใหญ่ (พระพุทธรูปปฏิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์) เป็นพระยืนขนาดใหญ่ในสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ริมแม่น้ำมูล ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอสตึก เป็นที่เคารพสักการะของชาวสตึกและจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงงานงานประเพณีแข่งเรือยาวซึ่งจัดที่อำเภอสตึกมีทั้งชาวเรือและผู้มา เที่ยวงานแวะมานมัสการพระพุทธรูปใหญ่กันเป็นจำนวนมาก การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-มหาสารคาม) ถึงอำภอสตึกเลี้ยวซ้ายตรงสะพานข้ามแม่น้ำมูล

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย ศิลปะลาว สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรต เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมากที่เรียกว่า “พระเจ้าใหญ่” ในภาษาไทยอีสาน มิใช่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการสาบานและอธิษฐาน เล่ากันว่า ผู้ที่ผิดคำสาบานมักได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีผู้ไปสาบานงดเว้นอบายมุขเลิกดื่มสุราและสักการะกราบไว้ขอให้คุ้มครอง รักษาอยู่มิได้ขาด นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐานพระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นโดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่าง ๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก

Saturday, October 2, 2010

ข้อมูลจังหวัดบุรีรัมย์


บุรีรัมย์ คือดินแดนภูเขาไฟเมืองไทย และเป็นแหล่งรวมอารยธรรมขอมโบราณ จึงมีความสำคัญในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

นอก จากนี้ บุรีรัมย์ยังได้รับสมญานามว่าดินแดนปราสาทหิน อันมากมายไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีงานศิลปหัตถกรมลือเลื่องคือผ้าไหมและผ้ามัดหมี่นาโพธิ์

จังหวัดบุรีรัมย์ตั้งอยู่ในเขตภาคอีสานตอนล่าง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือ พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อย เป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขาและภูมิประเทศที่เกิดจากภูเขาไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 10,321 ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของประเทศ

จากการศึกษา ของนักโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือมีการค้นพบหลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า " เครื่องถ้วยเขมร " ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไป

หลังจาก สมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัย กรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า บุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ บุรีรัมย์จึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้

จังหวัด บุรีรัมย์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง อำเภอลำปลายมาศ อำเภอประโคนชัย อำเภอพุทไธสง อำเภอสตึก อำเภอกระสัง อำเภอบ้านกรวด อำเภอคูเมือง อำเภอหนองกี่ อำเภอปะคำ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอหนองหงส์ อำเภอพลับพลาชัย อำเภอห้วยราช อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชำนิ อำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอแคนดง และอำเภอบ้านด่าน