Tuesday, October 5, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา จังหวัดบุรีรัมย์

วนอุทยานเขากระโดง

วนอุทยานเขากระโดง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏร่อง รอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ สร้างโดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนายสรวุฒิ บุญญานุศาสน์ และภายในวนอุทยานยังมีปราสาทหินเขากระโดง ซึ่งเดิมเป็นปราสาทหินทรายก่อบนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 4 เมตร ตัวปราสาททรุดโทรมปรักหักพัง ต่อมามีผู้บูรณะและสร้างมณฑปครอบไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือ ขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จะมีงานประเพณีขึ้นเขากระโดง

พระพุทธรูปใหญ่ (พระพุทธรูปปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎรนิมิตมุนินทร์)

พระพุทธรูปใหญ่ (พระพุทธรูปปฏิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์) เป็นพระยืนขนาดใหญ่ในสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ริมแม่น้ำมูล ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอสตึก เป็นที่เคารพสักการะของชาวสตึกและจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงงานงานประเพณีแข่งเรือยาวซึ่งจัดที่อำเภอสตึกมีทั้งชาวเรือและผู้มา เที่ยวงานแวะมานมัสการพระพุทธรูปใหญ่กันเป็นจำนวนมาก การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-มหาสารคาม) ถึงอำภอสตึกเลี้ยวซ้ายตรงสะพานข้ามแม่น้ำมูล

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย ศิลปะลาว สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรต เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมากที่เรียกว่า “พระเจ้าใหญ่” ในภาษาไทยอีสาน มิใช่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการสาบานและอธิษฐาน เล่ากันว่า ผู้ที่ผิดคำสาบานมักได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีผู้ไปสาบานงดเว้นอบายมุขเลิกดื่มสุราและสักการะกราบไว้ขอให้คุ้มครอง รักษาอยู่มิได้ขาด นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐานพระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นโดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่าง ๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก